โครงการทดลอง ทดสอบ การรับส่งสัญญาณผ่านกลุ่มดาวเทียม STARLINK
เพื่อสนับสนุนภารกิจการศึกษาและการแพทย์ทางไกล
ในวันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2567
ณ ห้องประชุมดงยาง 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ตั้งแต่เวลา 09.00 – 11.30 น.
คณะวิศวรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอเชิญร่วมงานแถลงข่าว
โครงการทดลอง ทดสอบ การรับส่งสัญญาณผ่านกลุ่มดาวเทียม STARLINK เพื่อสนับสนุนภารกิจการศึกษาและการแพทย์ทางไกล ในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมดงยาง 1 โดยมีคณะผู้บริหารจาก กสทช. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมการทดสอบสัญญาณทางไกลในครั้งนี้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า และสภากาชาดไทย ทั้ง 3 หน่วยงานได้ปรึกษาและมีแนวคิดร่วมกัน ในการที่จะลดความเหลื่อมล้ำในเชิงสังคมเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายขอบ บริเวณชายแดน หรือกลุ่มชาวเขา คนไร้สัญชาติ และเพิ่มโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นขาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาคุณภาพที่เท่าเทียมกับเด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีโอกาสมากกว่าจากการที่เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทั้งจากในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่มีหลากหลาย นอกจากขาดโอกาสเรื่องการศึกษาแล้ว กลุ่มเด็ก ผู้ป่วย หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังขาดโอกาสที่จะเข้าถึงและรับบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขผ่านแพลตฟอร์มแอพพลิเคชันบนอินเทอร์เน็ต เช่น หมอพร้อม และพ้นภัย
การทดลองในภารกิจการศึกษาทางไกล เริ่มทดลอง ทดสอบคุณภาพการรับส่งสัญญาณกลุ่มดาวเทียม STARLINK โดยการสร้างห้องเรียนทางไกลด้วยโปรแกรม Microsoft Team มีการถ่ายทอดสด (Live stream) จากห้องเรียน ณ โรงเรียนใน พื้นที่
ต.ขุมยวม อ.ขุมยวม จ.แม่ฮ่องสอน โดยสัญญาณวิดีทัศน์ทั้งภาพและเสียงจะต่อเข้าอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ การจัดการเรียนการสอนจะกระทำเสมือนจริงและเป็นปกติ ครูผู้สอนบรรยายจะประจำอยู่ที่ห้องเรียนที่สถานีรับส่งสัญญาณ ณ อาคารSKP สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี (GISTDA) ส่วนนักเรียนจะประจำที่โรงเรียน ในขณะที่บรรยายความรู้ นักเรียนและครูจะมองเห็นผ่านสมาร์ททีวี และโต้ตอบกันได้เหมือนปกติ และภารกิจการแพทย์ทางไกล จะทดลอง ทดสอบคุณภาพรับส่งสัญญาณกลุ่มดาวเทียม STARLINK โดยเราท์เตอร์จะปล่อยสัญญาณไวไฟ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถลงทะเบียนข้อมูลของประชาชน และสแกนม่านตา ผ่านโมบายแอพพลิเคชัน “หมอพร้อม” และ “พ้นภัย”
การทดสอบการรับส่งสัญญาณผ่านกลุ่มดาวเทียม STARLINK โดยนำอุปกรณ์เทอร์มินัลเข้ามาทดลอง ทดสอบสมรรถนะการใช้งานกับภารกิจค้นหาและช่วยเหลือ การศึกษาทางไกล และการแพทย์ทางไกล และจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ในพื้นที่ที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึงยากหรือยังไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการทดสอบในประเทศไทยภายใต้สภาพภูมิอากาศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ผลการทดสอบในโครงการนี้จะช่วยตอบคำถามในด้านความเป็นไปได้ของการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำ ในพื้นที่จริงและสถานการณ์จำลองการใช้งานจริง เพื่อแสดงให้เห็นรูปแบบการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากการรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โดยใช้วงโคจรไม่ประจำที่ ประเภทวงโคจรระดับต่ำ ซึ่งการแสวงหาความรู้เพื่อแก้ปัญหาของประเทศและเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะเป็นหนึ่งในภารกิจของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการสนับสนุนโครงการนี้
ติดตามข่าวสารได้ที่ มหานครหาดใหญ่ นิวส์
www.metro915news.com
ลงโฆษณาโทร098-879-6292