ไทยและมาเลเซียจับมือแถลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างกัน


ในกลุ่มนักท่องเที่ยวขับรถข้ามแดน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมเปิดตัวเส้นทาง Self-Drive และกิจกรรมท่องเที่ยว เพื่อร่วมผลักดันเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกันรวมไม่น้อยกว่า 7 ล้านคนในปี 2567

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 ฝ่ายไทยโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ ฝ่ายมาเลเซีย


โดย กระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม แห่งมาเลเซีย (Ministry of Tourism, Arts and Culture, Malaysia) และ Tourism Malaysia ร่วมกันจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความร่วมมือ


เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขับรถข้ามชายแดนไทย-มาเลเซีย (Cross-border Tourism) ณ ลานจอดรถของ The Zon Duty Free Complex ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างด่านสะเดา จังหวัดสงขลาของไทย และด่านบูกิตกายูฮิตัม

โดยนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ดร. ยัสมิน ยาซิม (HON. Yasmeen binti Yasim), รองเลขาธิการใหญ่ (Deputy Secretary-General) กระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม แห่งมาเลเซีย เป็นประธานในพิธีร่วมกัน

ภายในงาน ทั้งสองฝ่ายร่วมกันปล่อยตัวขบวนคาราวาน Thailand-Malaysia Self-Drive Tourism ประกอบด้วยรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์จากฝั่งไทย และรถยนต์จากมาเลเซีย

รวมกว่า 60 คัน มีผู้เข้าร่วมคณะคาราวานกว่า 100 คน เพื่อเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวที่น่าประทับใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาล ผ่านการดำเนินงานของ

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มุ่งขับเคลื่อนนโยบายการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยการพัฒนา ส่งเสริม และผลักดันให้ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก และส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในกรอบความร่วมมืออาเซียน โดยมาเลเซียถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางไปมาหาสู่กับไทยอยู่เสมอ และปัจจุบันเป็นตลาดที่มาเยือนไทยมากที่สุด ติดอันดับ Top 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-23 ตุลาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวมาเลเซียมาเยือนไทยแล้วมากกว่า 4 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 49 เลือกเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านชายแดนด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา จึงเป็นโอกาสอันดีที่ไทยและมาเลเซียจะร่วมกันส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวทั้งสองประเทศเดินทางระหว่างกันได้สะดวก โดยในปี 2567 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียมาเยือนไทยไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน ในขณะเดียวกับ ก็คาดว่า จะมีคนไทยเดินทางไปเยือนมาเลเซียในปีนี้ ไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนด้วยเช่นกัน รวมแล้วคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างกันไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน

ดร. ยัสมิน ยาซิม รองเลขาธิการใหญ่ กระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม แห่งมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียมีความยินดียิ่งที่ได้มีความร่วมมือกับประเทศไทยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามชายแดนซึ่งมุ่งส่งมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจและเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของสองประเทศ กิจกรรมดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างสองประเทศ ตามที่วางไว้ โดยมาเลเซียเองได้เตรียมการประกาศให้ปี 2569 เป็นปีท่องเที่ยวมาเลเซีย (Visit Malaysia 2026) ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกไม่น้อยกว่า 35.6 ล้านคน และเชื่อว่าการท่องเที่ยวข้ามชายแดน จะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างไทยและมาเลเซียได้อย่างมาก ซึ่งมาเลเซียมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางข้ามชายแดนอย่างไร้รอยต่อ และมีความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับไทยและประเทศสมาชิกทั้งภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน (ASEAN) และ Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (IMT-GT) ตลอดจนสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสืบไป
​​​​​​​​​
การแถลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีในการต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ ซึ่งไทยเองก็เตรียมกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจทุกเดือนในภาคใต้เพื่อตอบสนองความสนใจของตลาดมาเลเซีย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ไปจนถึงต้นปี 2568 อาทิ เทศกาลลอยกระทง เทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยและมาเลเซีย ยังได้เปิดตัวคู่มือแผนที่เส้นทางท่องเที่ยว Self-Drive เชื่อมโยงชายแดนไทยและมาเลเซีย ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในเส้นทาง นักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถรับข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล พร้อมทั้งค้นหาคู่มือเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศไทยและมาเลเซีย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ได้ที่เว็บไซต์ https://tourismproduct.tourismthailand.org อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น สืบเนื่องจากการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีของไทย ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 และการขับเคลื่อนนโยบาย IGNITE Tourism Thailand ของกระทรวงการท่องเที่ยว
และกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อให้ประเทศไทยเป็น ASEAN Hub โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปัจจุบัน ททท. มีนโยบายที่จะกระตุ้นการเดินทางเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางคมนาคมที่หลากหลาย สำหรับไทยและมาเลเซียนั้น ถือว่ามีข้อได้เปรียบที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ และทางราง จึงเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศไปพร้อมกัน โดยในส่วนของการเชื่อมโยงทางอากาศ
ก็ยังมีความร่วมมือในการเปิดเส้นทางการบินใหม่ ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา Malaysia Airline ได้เปิดตัวเส้นทางบินระหว่างกัวลาลัมเปอร์-เชียงใหม่ด้วย
นอกจากนี้ ททท. ยังมีแผนที่จะพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขับรถข้ามแดน ร่วมกับมาเลเซีย รวมถึงพิจารณาการพัฒนาสินค้าและบริการการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึง
การจัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยว และเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียได้ขยายการเดินทางไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของไทย นอกเหนือจากภูมิภาคภาคใต้ด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงกันโดยสะดวก
ในด้านการท่องเที่ยวทางราง ในช่วงที่ผ่านมา ททท. ได้ริเริ่มผลักดันการเดินทางท่องเที่ยวโดยรถไฟจากกัวลาลัมเปอร์ ตรงไปยังสถานีหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับการรถไฟมาลายา หรือ KTMB (Keretapi Tanah Melayu Berhad) ให้บริการขนส่งนักท่องเที่ยวโดยรถไฟ KTM Electric Train Service หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ETS” ซึ่งให้บริการจากสถานี KL Sentral ไปยังสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ รัฐปะลิส ก่อนจะเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นอกจากนี้ ยังมีการจัด Charter train ชื่อ My Sawasdee ในเส้นทางกัวลาลัมเปอร์- ปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ รองรับผู้โดยสารได้ถึงเที่ยวละ 400 คน ปัจจุบันให้บริการในช่วงวันหยุดยาว หรือเทศกาลเฉลิมฉลองพิเศษ ซึ่ง ททท. มีแผนที่จะผลักดันสู่การวิ่งให้บริการเป็นประจำเพิ่มขึ้นต่อไป
ททท. คาดว่า การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวผ่านช่องทางคมนาคมที่หลากหลายระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น จะทำให้ ททท. ดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดได้บรรลุตามเป้าของรัฐบาล ซึ่งตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท และเพิ่มเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 36.7 ล้านคน ภายในปี 2567 นี้

By Kasima

ใส่ความเห็น

ประเด็น